
นี่คือเหมืองแร่ลูวาว (Luwow) ในประเทศคองโก ซึ่งแรงงาน 1,400 คนในเหมืองแร่แห่งนี้ ใช้ “มือ” ขุดหาแร่โคลแทน ซึ่งเป็นแร่สำคัญที่นำมาผลิตเป็นตัวคอนดักเตอร์ ซึ่งควบคุมพลังงานที่ใช้ใน “อุปกรณ์ไฮเทค” อย่างสมาร์ทโฟนของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ซัมซุงกาแล็กซี่ รวมถึงสมาร์ทโฟนอื่นๆ

หนุ่มๆเหล่านี้ต้องทำงานกลางแดดวันละ 12 ชั่วโมง แร่ที่ขุดได้โดยมือเปล่า จอบ และเสียม จะถูกนำบรรจุใส่กระสอบข้าวสาร แล้วโยนลงบนไหล่ของคนงาน ที่จะต้องแบกลำเลียงมันไปร่อนเอาเฉพาะเนื้อแร่ต่อไป

แม้ต้องทำงานหนักกลางแดดทั้งวัน เนื้อตัวเปื้อนโคลน อุณหภูมิร้อนจัด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตแต่คนเหล่านี้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่วันละ 3 ดอลลาร์ (100 บาท) เท่านั้น

ทั้งแอปเปิ้ล และซัมซุง ยอมรับว่าพวกเขาใช้แร่โคลแทน จากประเทศคองโกล มาสร้างเป็นสมาร์ทโฟนของตัวเองจริง แอปเปิ้ล ชี้แจงว่า ซัพพลายเออร์ของพวกเขาจะต้องปฏิบัติตามหลัก ความเป็นธรรมและเคารพผู้ใช้แรงงาน ส่วนซัมซุงบอกว่า พวกเขาตระหนักถึงความรุนแรงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหามลพิษจากเหมืองแร่ในคองโก

แต่ถึงอย่างนั้น ในการทำงานจริงที่เหมืองแร่ Luwow นั้น มีเพียงผู้คุมงานก่อสร้าง ที่ยืนดูคนงานนับร้อยลุยงานหนักอยู่กลางแดด และคอยตะโกนสั่งให้คนเหล่านี้ทำงานหนักขึ้นและเร็วขึ้น

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในทวีปแอฟริกา ถูกค้นพบโดยชาวเบลเยียมเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ทั้งทองคำ เพชร ยูเรนียม และโคลแทน ถูกรีดเค้นออกมาขับเคลื่อนโลกใบนี้

แต่น่าเศร้าที่กำไรจากเหมืองแร่เหล่านี้ ถูกนำไปใช้จัดหาอาวุธ เพื่อทำสงครามสู้รบจากความขัดแย้งภายในภูมิภาคที่ยืดเยื้อมากว่า 20 ปีแล้ว เช่นเดียวกับเหมืองลูวาวแห่งนี้ มันเป็นของกองกำลังที่ได้รบการหนุนหลังจากประเทศรวันดา ทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นประเทศที่ส่งออกโคลแทนมากที่สุดในโลก